จีนบ้านเกิดของใบชา จากรายการวัฒนธรรมจีน China Radio International thai.cri.cn
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังที่เคารพ จีนเป็นบ้านเกิดของใบชา ชาวจีนเป็นผู้พบต้นชารายแรกของโลก มีหลักฐานว่า ต้นชาป่าที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของโลกอยู่ที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รายการวันนี้ ดิฉันขอเสนอเรื่อง "จีน---บ้านเกิดของใบชา" ให้ฟังค่ะ
เล่ากันว่า ย้อนไปถึงเมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน พระจักรพรรดิเอี๋ยนตี้ของจีน ผู้ซึ่งเป็นนักชิมยาสมุนไพรต่างๆ นับร้อยอย่าง วันหนึ่งโดนพิษ 72 อย่าง โชคดีที่ได้แก้พิษด้วยชาในที่สุด สมัยราชวงศ์ซีโจวหรือโจวตะวันตก (ปี 1066-771 ก่อนคริสต์ศักราช) ได้เกิดธุรกิจชาขึ้น ซึ่งถือเป็นธุรกิจชาที่เก่าแก่ที่สุดของจีน สมัยพระเจ้าโจวอู่หวังนั้น นครรัฐต่างๆ ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้เคยส่งใบชาเป็นบรรณาการไปให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน เวลานั้น ผู้คนรู้จักแต่เพียงนำชาไปเป็นอาหารประเภทผักเท่านั้น ต่อมาในสมัยชุนชิวจั้นกั๋ว ผู้คนเริ่มรู้จักนำชาไปเป็นอาหารประเภทน้ำดื่ม ส่วนวิธีการเพาะปลูกต้นชา กรรมวิธีการแปรรูปใบชาและวิถีการชงชาก็ค่อยๆ นำไปเผยแพร่สู่เขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนกลางและตอนปลายตลอดจนเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
เมื่อเวลาเลยมาถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น (ปี 206 ก่อนคริสต์ศักราช-ปีคริสต์ศักราช 220) การดื่มชาได้กลายมาเป็นประเพณีของชนชั้นปัญญาชนและชนชั้นขุนนาง นับจากนั้นมาก็ได้ปรากฏเอกสาร/จดหมายเหตุเกี่ยวกับเรื่องประเพณีการดื่มชาขึ้น โดยฉบับที่มีประวัติเก่าแก่ที่สุดคือ กาพย์กลอนเรื่อง "ถงเยว์" ผู้แต่งคือ หวังเป่า กวีราชวงศ์ฮั่น สมัยนั้น ใบชาจากมณฑลเสฉวนเป็นบรรณาการจิ้มก้องถึงนครฉางอันพระราชธานี กลายเป็นเครื่องดื่มสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูง ในช่วงดังกล่าว มีการเปิด "เส้นทางแห่งใบชา" ในทางทะเลขึ้น คือ ทูตของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้จะออกเดินทางโดยเรือจากมณฑลกวางตุ้ง นำของฝากต่างๆ ไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ในนั้นก็มีใบชาด้วย ด้วยเหตุนี้ คำเรียก "ชา" ในประเทศต่างๆ ที่รับใบชาจากจีนจึงมีความเป็นมาจากคำเรียกชาตามภาษาฮกเกี้ยนของจีน และการดื่มชาในทั่วโลกล้วนมีแหล่งกำเนิดจากจีน
หนังสือทางประวัติศาสตร์ที่มีส่วนเกี่ยวกับการผลิตชาและการดื่มชาที่เก่าแก่ที่สุดของจีนคือ เรื่อง "กว๋างเอี่ย" ของสมัยสามก๊ก ผู้แต่งคือ จังอี หนังสือดังกล่าวบันทึกไว้ว่า จะนำใบชาไปทำเป็นรูปเปี๊ยะ ป่นให้ละเอียด แล้วนำใส่ลงเครื่องเคลือบ ราดน้ำร้อนที่ต้มไว้ และปรุงรสด้วยต้นหอมและขิงอีกที นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวยังบอกให้ผู้คนรู้ถึงสรรพคุณของชาว่า ใบชามีสรรพคุณในการ "แก้พิษสุราและแก้ง่วงนอน" ส่วนหนังสือเรื่อง "ทฤษฏีว่าด้วยอาหารการกิน" โดยฮว่าโถว (Hua Tuo) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า "การดื่มชาขมเป็นเวลานานจะเป็นประโยชน์ต่อการคิดการไตร่ตรอง" จากนี้สามารถเห็นได้ว่า การดื่มชาของผู้คนในสมัยนั้นยังให้ความสนใจกับคุณค่าด้านความเป็นยาของใบชาอีกด้วย
เริ่มตั้งแต่สมัยซีจิ้น (ปีคริสต์ศักราช 265-317) การดื่มชาพร้อมกับการพูดคุยได้กลายมาเป็นเรื่องแฟชั่น กระทั่งเป็นสัญลักษณ์แห่งจิตใจงดงามและมีคุณธรรมสูงส่ง ส่วนการรับรองแขกด้วยชาและผลไม้ก็กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเรียบง่ายและความไม่สุรุ่ยสุร่าย
สมัยหนันเป่ย์เฉา (ปีคริสต์ศักราช 420-589) พระเจ้าฉีอู่ตี้ได้เปิด "เส้นทางแห่งใบชา" ในทางบกขึ้น โดยนักธุรกิจตุรกีในสมัยนั้นจะนำใบชา สิ่งทอและเครื่องเคลือบจากจีนขนส่งไปยังตุรกีโดยทางบก แล้วค่อยนำไปสู่ดินแดนอื่นๆ ต่อ เช่น เปอร์เซียและอาหรับ เป็นต้น
ท่านใดมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับใบชา หรือวิธีชงชาอย่างไร ช่วยกันนำเสนอถ่ายทอด ไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบกัน คงจะดีไม่น้อย
10 ยอดชาจีน
น้ำชา เป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับชาวจีนมานานหลายพันปี คนจีนค้นพบใบชา และใช้ประโยชน์จากใบชา โดยแรกเริ่ม พวกเราชาวจีนได้เริ่มเก็บเอาใบชาป่ามาทำยารักษาโรค ภายหลังจึงได้นำมาอบแห้ง แล้วชงเป็นเครื่องดื่ม และพัฒนามาเป็นน้ำชาแต่ละประเภท ชาวจีนได้ทำการปลูกต้นชามาตั้งแต่ในสมัย ชุนชิว-จ้านกว๋อ (รณรัฐ=สงครามระหว่างรัฐ) มาในสมัยราชวงศ์ฉิน ถึงราชวงศ์ฮั่น การปลูกต้นชาเริ่มมีตามแนวมณฑลเสฉวน ลงมาถึงมณฑลหยุนหนาน มาถึงสมัยราชวงศ์ถัง การปลูกชาได้กระจายไปในแต่ละมณฑลตามแถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง)
ในแต่ละสมัยของอาณาจักรจีน ชาวจีนล้วนยิ่งมีประสบการณ์ในการปลูก การผลิตใบชา การเก็บรักษา และการชงดื่มไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งได้มีการบันทึกเป็นตำราฉบับหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงมาก ในสมัยราชวงศ์ถัง เมื่อปี ค.ศ.780 คือตำรา "ฉาจิง" ซึ่งว่าด้วยเรื่องใบชา โดยผู้เขียนคือ "ลู่ยวี่" บรมครูด้านใบชาในสมัยนั้น และตำรานี้ได้ตกทอดมาจนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบัน
ชาจีนมีมากมายหลายประเภท แต่ถ้าแยกประเภทตามชนิดของสีในน้ำชา จะพบว่ามี ชาแดง ชาดำ ชาเขียว และ ชาขาว ชาแดง เป็นน้ำชาสีเข้มข้น แดงเหมือนเลือดนก กรรมวิธีการผลิตต้องใช้กระบวนการหมัก บางครั้งจึงเรียกว่า ชาหมัก ชาดำ เป็นชาที่เกิดขึ้นในภายหลัง ใช้ใบชาค่อนข้างแก่ มาหมัก แล้วบดเป็นชาผง ชาดำนี้เป็นที่นิยมของชาวอังกฤษซึ่งได้นำชาจีนไปเผยแพร่ในทวีปยุโรป แล้วดื่มผสมนม และน้ำตาล จึงมักเรียกว่า ชาฝรั่ง ชาเขียว เป็นชาที่นำยอดชาอ่อน มาผึ่งแดด แล้วอบแห้งในทันทีโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการหมัก น้ำชาที่ได้จึงมีสีเขียวสดใส ชาขาว ชาวจีนได้นำตาอ่อนของยอดชา กับ ใบชาอ่อน ๆ หลาย ๆ ชนิด มาอังกับเตาไฟให้แห้งสนิท น้ำชาที่ได้จึงมีสีขาว ปัจจุบัน ในประเทศจีนมีผลิตภัณฑ์จากชามากมายหลายชนิดต้นชาส่วนใหญ่ในประเทศจีนส่วนมากนิยมปลูกกันตามแถบตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียงลงมา ไหงได้รวบรวมสุดยอดชาจีนทั้งหมดที่ชาวจีนในประเทศจีนนิยมชมชอบและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่ 10 ชนิด โดยแต่ละชนิดเป็นชาที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในแต่ละมณฑล โดยมณฑลที่มีชาเลื่องชื่ออยู่มากที่สุดคือ ฝูเจี้ยน
10 ยอดชาจีนที่เลื่องชื่อลือชา มีดังนี่
- ชา "ฉีเหมิน" ตั้งชื่อตามเมืองฉีเหมิน มณฑลอานฮุย ซึ่งเป็นแหล่งผลิต ชาฉีเหมินจัดว่าเป็นชาชนิดเข้มข้น ดื่มแล้วชุ่มฉ่ำ หอมติดปากติดคอ ชาวจีนในปักกิ่งนิยมดื่มชาฉีเหมินนี้มาก
- ชา "หลงจิ่ง" หรือสระมังกร แห่งทะเลสาปซีหู เมืองหางโจว มณฑลเจ๋อเจียง ชาหลงจิ่งเป็นชาเขียว ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด น้ำชาหลงจิ่งมีสีเขียวเหมือนมรกต ชาหลงจิ่งเป็นที่นิยมของคอชารุ่นใหม่
- ชา "ปิ๊เหลยชุน" แห่งเมือง อู๋ ของมณฑลเจียงซู ในอดีต จักรพรรดิ์เฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ได้เสด็จประพาสต้นมายังมณฑลเจียงซู แล้วได้เสวยชาปิ๊เหลยชุนนี้แล้วทรงประทับใจในรสชาติ ได้ทรงยกย่องชานี้ว่าเป็นไข่มุกงามของเจียงซู
- ชา "เหมาเฟิง" เป็นชาที่ปลูกในแถบภูเขาหวงซาน มณฑลอานฮุย ชาชนิดนี้ในอดีตจัดเป็นเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักชิงเช่นกัน
- ชา "ลิ่วอันกวาเพียน" แห่งเทือกเขาต้าเปียซาน ในมณฑลอานฮุย ชานี้ ในสมัยสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคกว๋อหมินต่าง ประธานเหมาเจ๋อตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ไปตั้งศูนย์การนำพรรคที่ภูเขาต้าเปียซาน ได้เคยดื่มชาลิ่วอันกวาเพียนนี้แล้รู้สึกประทับใจในรสชาติของชานี้ ภายหลังเมื่อได้เป็นผู้นำประเทศแล้วยังดื่มชาลิ่วอันกวาเพียน ในทำเนียบจงหนานไห่อยู่เป็นประจำ "ฮ่าวซึด"
- ชา "หวู่หยีหยานฉา" หรือ "วูหลงฉา" แห่งภูเขาอู๋อี๋ซาน ของมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ชาวูหลงหรือมังกรดำ นับว่าเป็นชาที่รู้จักกันมากที่สุดในบรรดาชาวจีนโพ้นทะเลรวมทั้งในประเทศไทยของเรา ชาวูหลงเป็นชากึ่งหมัก มีสีเหลืองอำพัน รสชาติชุ่มคอ หอมติดอกติดใจ ชาวูหลงนี้มี เบอร์ 12 เบอร์ 17 และวูหลงก้านอ่อน ซึ่งให้ความหอมและรสชาติที่แตกต่างกันไป
- ชา "เถียะกวนยิน" หรือ "เที๊ยะกวนอิม" แห่งมณฑลฝูเจี้ยน ชาเถียะกวนยินนี้เป็นชาที่มีราคาแพงมากวูหลงฉา และ เถียะกวนยินฉา ได้รับการยกย่องว่าเป็น 2 ไข่มุกงามแห่งมณฑลฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน)
- "หมอลี่ฮวาฉา" หรือ ชาดอกมะลิ ของมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งได้นำดอกมะลิอบแห้งผสมกับชาเขียวหรือชาวูหลง นับว่าอยู่ในชั้นเลิศของบรรดาชากลิ่นดอกไม้ ซึ่งชาดอกมะลิเป็นที่นิยมชมชอบของชาวจีนในภาคเหนือเป็นอย่างมาก
- ชา "ไป๋เห่าเหยินเจิน" เป็นชาที่ปลูกทางภาคเหนือของมณฑลฝูเจี้ยน ในอดีตต้องจัดเป็นเครื่องราชบรรนาการสู่ราชสำนักมิได้ขาด
- ชา "ผู่เอ๋อร์" เป็นชาที่ปลูกทางภาคใต้ของมณฑลหยุนหนาน ที่อำเภอผู่เอ๋อร์ โดยชนชาติหยี ซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อยของมณฑลหยุนหนาน ชาผู่เอ๋อร์ นับว่าเป็นชาที่ดังและมาแรงมากในปัจจุบัน เปรียบกันว่ามีราคาเท่ากับทองคำเลยทีเดียว ชาผู่เอ๋อร์เป็นชาหมัก น้ำชามีสีดำ ชาชนิดนี้ผู้ใดได้ดื่มเป็นครั้งแรกจะรู้สึกว่ามีกลิ่นแรงและรสชาติเข้มข้นมาก แต่เมื่อดื่มเป็นครั้งต่อ ๆ ไปจะรู้สึกติดใจจนลืมไม่ลง ชาผู่เอ๋อร์มีกรรมวิธีการผลิดโดยการหมักไว้ในเข่งตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่และรองด้วยใบตอง หมักแล้วอัดเป็นก้อนตั้งแต่ขนาดเท่าหัวแม่มือ ไปจนถึงขนาดเท่าโต๊ะกลม ๆ แล้วเก็บไว้ตั้งแต่ 1 ปี 5 ปี 10 ปี ไปจนถึง 20 ปี แล้วนำออกขาย
ชาจีน นับว่ามีความผูกพันธ์กับชาวจีนมานานจนแยกจากกันไม่ออก ชาวจีนได้ดื่มน้ำชาเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งในบรรดาชาวจีนที่มีรสนิยมในการดื่มชาอย่างละเมียดละไมที่สุดเป็นที่รู้กันในหมู่คนจีนทั่วไป คือจีนแต้จิ๋ว
ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
เขียนโดย "ยับสินฝ่า" (กฤตย์ เยี่ยมเมธากร) จาก www.hakkapeople.com
ขอขอบพระคุณครับ-ยับสินฝ่า(กฤตย์
เยี่ยมเมธากร)
ไม่มีความคิดเห็น:
ไม่อนุญาตให้มีความคิดเห็นใหม่