วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

คันฉ่อง(กระจกส่องหน้า) ของจีนโบราณงานศิลปะที่น่าสะสมมานานปีแล้ว



คันฉ่อง(กระจกส่องหน้า) ของจีนโบราณงานศิลปะที่น่าสะสมมานานปีแล้ว

นักสะสม "จตุคามรามเทพ" ย่อมรู้จักชื่อคุณ สรรเพชร ผู้เป็นหลักในการจัดสร้าง และในหนังสือของท่านก็กล่าวถึง คันฉ่องจีนโปราณไว้ด้วย การสะสมรุ่นแรก ๆ  ของนักสะสมจะเริ่มจากวงเงินเพียงเล็กน้อยอยากรู้อนุภาพและปฏิหารย์ และต้องเป็นคนใจถึง จนมีความพร้อมก็ต้องกล้าสู้ราคาอย่างสุดๆ จึงทำให้ได้ของดีในระดับตำนานให้ครบทุกอย่าง เคยมี "สารคดีเกี่ยวกับสมบัติของฮ่องเต้ในเมืองจีน ทำให้รู้ว่า ฮ่องเต้สมัยก่อนให้ความสำคัญเรื่องของ 'คันฉ่อง' มากเป็นพิเศษ ถึงกับต้องนำติดตัวอยู่เสมอ และเมื่อสวรรคตไปแล้ว ก็ยังมีคันฉ่องวางอยู่ที่ข้างศพ โดยเฉพาะที่ไหล่ทั้ง ๒ ข้าง เป็นคันฉ่องชิ้นพิเศษ และมีชิ้นอื่นๆ อีกมากมาย วางประปรายในหีบศพ รวมทั้งบริเวณสุสานอีกด้วยคนจีนที่มีอายุมากๆ รวมทั้งจากตำราหนังสือจีนที่ลงเรื่องคันฉ่องมาอ่าน ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ก็ได้รับความรู้มากขึ้นไปอีก"
เนื่องจากคันฉ่องจีน เป็นสมบัติของฮ่องเต้ และขุดพบในหลุมฝังศพ การที่จะนำมาเก็บสะสมไว้ในบ้าน จึงต้องทำพิธีขอขมา และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้าของเดิมเสียก่อน เหมือนกับที่คนไทยสมัยหนึ่ง นิยมสะสมลูกปัดทวารวดี ที่ต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้าของเดิมก่อน เพราะลูกปัดก็เป็นของที่ขุดหาได้จากหลุมศพของคนโบราณเช่นกัน

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของ "คันฉ่อง" ไว้ว่า...เครื่องใช้ทำด้วยโลหะ ขัดจนเป็นเงา มีด้ามถือ ใช้สำหรับส่องหน้า ; ปัจจุบันเรียกกระจกเงามีกรอบ ๒ ชั้น สําหรับเอนเข้าออกได้ ตั้งบนโต๊ะเครื่องแป้ง สรุปง่ายๆ "คันฉ่อง" คือ กระจกเงา นั่นเอง แต่ในความหมายของชาวจีนสมัยโบราณ คันฉ่อง มีความหมายลึกซึ้งไปกว่านั้นมาก เพราะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นทั้งโบราณวัตถุ และเครื่องรางของขลัง รวมทั้งเป็นสารตราตั้งของฮ่องเต้ ที่จะทรงมอบหมายพระราชอำนาจให้กับใครก็ตาม ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ให้ไปทำราชการแทนองค์ฮ่องเต้ ในทุกแห่งหน ทั่วพระราชอาณาจักร
คันฉ่องจีนโบราณ เริ่มมีการสร้างมาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราช (บางแห่งบอกว่าสร้างเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีก่อน) โดยการนำโลหะชั้นเยี่ยมประเภททองสัมฤทธิ์ และปรอท เป็นส่วนผสมในการหล่อสร้าง มีลวดลายต่างๆ ดูแปลกตา แต่แฝงเอาไว้ด้วยศาสตร์ และศิลป์อันมีความหมายอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจว่า อาจจะมีการบรรจุพุทธาคมลงไปด้วย เพื่อใช้ในการปกป้องภยันตรายต่างๆ ปกป้องคุ้มครองมิให้สิ่งเร้นลับ คุณไสย หรือภูตผีปีศาจมารังควานได้



ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของคันฉ่อง คือ ด้านที่มีเงาแวววาวนั้น ใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉินได้ เช่น คนหลงป่า หรือเรือที่ประสบอุบัติเหตุกลางทะเล สามารถใช้ส่องให้สะท้อนแสงพระอาทิตย์ เพื่อบอกให้คนอื่นได้รับรู้ และให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที แทบไม่น่าเชื่อว่า คนจีนในยุค ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปีก่อนหน้านี้ จะสามารถสร้างสรรค์คันฉ่องได้อย่างเยี่ยมยอดขนาดนี้ เคียงคู่กับศิลปะวัฒนธรรมและประเพณี อันเก่าแก่ของจีนตลอดมาในทางปฏิบัติ หากฮ่องเต้พระองค์ใดสิ้นพระราชอำนาจ สิ้นราชวงศ์ เมื่อมีการสถาปนาฮ่องเต้ราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ จะมีการสร้างคันฉ่องประจำราชวงศ์ขึ้นมาแทนทุกครั้ง รูปแบบและลวดลายต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ตามแต่ฮ่องเต้แต่ละยุคแต่ละสมัย จะกำหนดขึ้น แต่จะไม่เลียนแบบของฮ่องเต้องค์ก่อนๆ อย่างเด็ดขาด คันฉ่องจีนโบราณ เท่าที่มีการขุดพบในยุคแรก เป็นของสมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ.๓๒๒-๓๓๖) คือ เมื่อประมาณ ๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว จากนั้นได้มีการสืบสานสร้างกันต่อมา จนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์ชิน สมัยสามก๊ก สมัยหกราชวงศ์ (พ.ศ.๙๖๓-๑๑๓๒) สมัยราชวงศ์สุย ราชวงศ์ถัง สมัยห้าราชวงศ์ สมัยราชวงศ์ซ้อง ราชวงศ์หงวน (มองโกล) ราชวงศ์เหม็ง (หรือหมิง) และราชวงศ์ชิง หรือเชง แมนจู (พ.ศ.๒๑๘๗-๒๔๕๕)
ในยุคแรกๆ คันฉ่องที่สร้างขึ้นมา ไม่มีรูปแบบแกะสลักลวดลายอะไรมากนัก มีเพียงเป็นเส้นๆ เป็นจุดๆ หรือวงกลมๆ เท่านั้น โดยใช้เป็นสัญลักษณ์แทนภูเขา หรือใช้แทนพลังจักรวาล ดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ ฯลฯ ต่อมาเมื่อฝีมือช่างได้พัฒนาขึ้น คันฉ่องที่สร้างเริ่มปรากฏเป็นรูปภาพต่างๆ อย่างชัดเจน สามารถสื่อความหมายได้ดีขึ้น เช่น รูปเทพเจ้าต่างๆ รูป ๑๒ นักษัตร รูปสัตว์ต่างๆ เช่น มังกร หงส์ ม้า ปลา กวาง เต่า ฯลฯ รวมทั้งตัวอักษรจีนที่เป็นคำสิริมงคล และเส้นสายลวดลายต่างๆ ตามแบบศิลปะจีน ก็เริ่มปรากฏรายละเอียดมากขึ้นตามลำดับ จนมีความงดงามวิจิตรพิสดาร และอลังการเป็นอย่างยิ่ง
ภาพต่างๆ เหล่านี้ จะปรากฏอยู่ด้านหนึ่งของคันฉ่อง ตรงจุดกึ่งกลางมักจะเป็นรูปเต่า อันมีความหมายถึงอายุยืนยาว ตรงรูปเต่านี้จะมีรูเจาะทะลุกัน เพื่อไว้ร้อยเชือก ให้จับถือคันฉ่องได้สะดวกขึ้น ส่วนอีกด้านหนึ่งของคันฉ่องราบเรียบ เมื่อขัดให้เป็นเงาแวววาว สามารถส่องดูใบหน้า แทนกระจกเงา ได้เป็นอย่างดี
การจัดสร้างคันฉ่องของชาวจีนโบราณ จะสร้างได้เฉพาะฮ่องเต้เท่านั้น สามัญชนคนทั่วไป ไม่สามารถสร้างมาใช้ได้ แม้ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายสักแค่ไหนก็ตาม ส่วนฮ่องเต้แต่ละพระองค์ จะสร้างคันฉ่องขึ้นมาใช้เท่าไรก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คันฉ่องแต่ละราชวงศ์มีมากมาย มากทั้งจำนวน และมากด้วยขนาดต่างๆ เท่าที่พบมี ๗ ขนาด คือ ขนาดใหญ่สุด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๙ ซม. แต่พบเห็นน้อยมาก ถัดลงมาเป็นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๐ ซม. ๑๘ ซม. ๑๒ ซม. ๘ ซม. ๖ ซม. และเล็กสุดประมาณ ๓.๕ ซม.




โดยสีสันวรรณะของโลหะที่สร้างเป็นคันฉ่อง จะมีทั้งสีเหลืองดอกบวบ สีเงินมันวาว ในสมัยราชวงศ์ถัง (สมัยเจ้าแม่กวนอิม) คันฉ่องที่สร้างนิยมเป็นรูปบัว ๘ กลีบ สื่อความหมายถึงพระพุทธศาสนา ที่กำลังเผยแพร่ในประเทศจีน แทนที่จะเป็นรูปวงกลม เหมือนอย่างที่เคยสร้างกันมาก่อนหน้านี้
คันฉ่องจีนโบราณ ถือเป็นของสูงของศักดิ์สิทธิ์ คู่กับแผ่นดินจีนมาโดยตลอด คันฉ่องทุกชิ้นที่สร้างขึ้นมา
ฮ่องเต้จะนำมาส่องดูพระพักตร์ก่อนที่จะมอบให้ทูตานุทูต เพื่อนำติดตัวเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ คือเป็นตัวแทนองค์ฮ่องเต้ ผู้ใดพบเห็นจะต้องก้มลงกราบคารวะ แสดงความเคารพทันที
วัฒนธรรมการสร้างคันฉ่อง ที่เป็นเสมือนตัวแทนองค์ฮ่องเต้ของชาวจีนโบราณ เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความหมาย ๔ ประการ ในชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไป คือ ความยิ่งใหญ่ ความสุข ความมั่งคั่ง และ ความมีชีวิตอันยืนยาว อันเป็นสิ่งที่ทุกคนมุ่งมั่นปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง

"ปัจจุบันคันฉ่องเป็นของหายาก เพราะเป็นของสูง เป็นของกษัตรย์สร้าง นักสะสมของเก่าเมื่อมีข้อมูลมาก ทำให้รู้คุณค่ากันมากขึ้นด้วย และแผ่ขยายในวงกว้างออกไป คันฉ่องจึงมีราคาสูงขึ้นด้วย บางชิ้นที่คงสภาพสมบูรณ์มากๆ ราคาซื้อขายเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนกันเลยทีเดียว ขณะเดียวกันก็มีของปลอมระบาดมานานแล้ว คนที่ไม่มีความรู้ในการพิจารณา จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และจากการเปิดดูในอินเทอร์เน็ต ทำให้รูว่า พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ หลายประเทศมีคันฉ่องของจีนโบราณ จัดแสดงโชว์อยู่ด้วยเสมอ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส หลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่ ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีมากเป็นพิเศษ...นับเป็นเรื่องแปลก ที่ชาวต่างชาติมีข้อมูลความรู้อย่างละเอียด และความลี้ลับของคันฉ่องได้เป็นอย่างดี